Switch to the dark mode that's kinder on your eyes at night time.

Switch to the light mode that's kinder on your eyes at day time.

Switch to the dark mode that's kinder on your eyes at night time.

Switch to the light mode that's kinder on your eyes at day time.

มาตรฐานฮาลาลประเทศไทยกับความยั่งยืนของเศรษฐกิจและสังคม

Share
Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest
Share on tumblr
0

สัมภาษณ์ รองศาสาตราจารย์ ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย

อิรฟัน : อัสลามมูอาลัยกุมครับอาจารย์ 

รศ.ดร.ปกรณ์ : วาอาลัยกุมสลามครับ 

อิรฟัน : มาเริ่มกันที่ คำถามแรกเลยนะครับ…อาจารย์ครับในฐานะที่อาจารย์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ทำไมทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีมาตรฐาน อะไรคือความสำคัญของมาตรฐาน แล้วในส่วนของมาตรฐานฮาลาลกับมาตรฐานทั่วไปมีความแตกต่างกันอย่างไรครับ?

รศ.ดร.ปกรณ์ : 

วัตถุประสงค์หลักของมาตรฐาน ได้แก่ การช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค เมื่อผู้ผลิตอาหารหรือผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองมาตรฐาน มาตรฐานดังกล่าวจะเป็นหลักฐานสำคัญอย่างเป็นรูปธรรม ในการให้ข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ผลิตตามกระบวนการที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ทั้งในด้านคุณภาพและความ ปลอดภัย “ฮาลาล” เป็นข้อกำหนดในศาสนบัญญัติอิสลาม มีความหมายเชิงประยุกต์ว่า “อนุมัติให้บริโภคผลิตภัณฑ์ที่ถูกสุขลักษณะ สะอาด ปลอดภัย เป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” หลักการนี้คณะกรรมาธิการ CODEX ในสังกัดองค์การอาหารและเกษตรร่วมกับองค์การอนามัยโลก ได้อนุมัติให้ใช้ “หลักการฮาลาล” มากำหนดเป็นมาตรฐานเฉพาะ สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารรวมทั้งบริการที่เกี่ยวเนื่องตลอดห่วงโซ่อาหาร  (หรือที่เรียกขานกันง่ายว่า “จากเรือกสวนไร่นาจนถึงโต๊ะอาหาร -From farm to table-”) 

อิรฟัน : เมื่อเปรียบเทียบมาตรฐานอาหารฮาลาลในประเทศไทยกับมาตรฐานฮาลาลในระดับสากลที่มีการใช้อยู่ในหลายประเทศภายใต้ SMIIC มีความแตกต่างและมีความสำคัญอย่างไร และในอนาคตจะมีมาตรฐานที่ใช้ในอุตสาหกรรมใดบ้าง?

รศ.ดร.ปกรณ์: 

จากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติจัดตั้งสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2545 เป็นองค์กรในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ.2546 ก่อให้เกิดการพัฒนาวิทยาศาสตร์ฮาลาล ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาล เป็นผลให้มีการสานโยงความรู้และพลังปัญญา ระหว่างนำความรู้ด้านอิสลามและการตรวจพิสูจน์วัตถุดิบและสารปรุงอันเป็นข้อสงสัย จึงมีการเรียกขานอันเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “ศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ” เป็นสัญลักษณ์ของฮาลาลประเทศไทย

หลักการนี้มีผลต่อการพัฒนามาตรฐานอาหารฮาลาลของไทย อันเป็นมาตรฐานฮาลาลฉบับแรก ที่ประกาศใช้เป็นมาตรฐานแห่งชาติโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี พ.ศ.2550 ปัจจุบันความเข้าใจและการยอมรับในการปฏิบัติที่ถูกต้องของผู้ประกอบการไทย ตามข้อกำหนดทั่วไปและแนวทางการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารตลอดห่วงโซ่คุณค่าและห่วงโซ่อุปทาน  มีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลให้ผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทย เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในประชาคมระหว่างประเทศ

ในส่วนขององค์การมาตรฐานขององค์การความร่วมมือประเทศอิสลาม (OIC) ที่ใช้ชื่อในภาษาอังกฤษว่า “The Standards and Metrology Institute for Islamic Countries (SMIIC) อันเป็นที่รู้จักกันว่า OIC/SMIIC เป็นองค์กรด้านมาตรฐานและมาตรวิทยาของโลกอิสลาม เป็นที่ยอมรับเทียบเท่ากับโคเด็กซ์และ ISO ดังนั้นการเข้าเป็นรัฐสมาชิกประเภทผู้สังเกตุการณ์ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนามาตรฐานต่าง ๆ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ในความคล้ายคลึงและความแตกต่าง ทั้งในส่วนที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลระดับต้น ๆ ของโลก มีความแข็งแกร่งในการตรวจรับรอง การปฏิบัติการทางนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล โดย OIC/SMIIC เป็นองค์กรกลางที่ถือเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในโลกอิสลาม จึงเกิดการจัดการความรู้ระหว่างกัน แต่การประกาศใช้มาตรฐานของไทย จะต้องคำนึงถึงกฎหมาย กฎเกณฑ์ แนวทางการปฏิบัติ ที่เหมาะสมกับบริบทไทย 

อิรฟัน : ในยุคที่เกิดสถานการณ์ระบาดของ Covid-19 ตั้งแต่ปีที่แล้วจนปัจจุบัน 2564 นี้ ส่งผลกระทบต่อหลายกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการฮาลาล อาจารย์คิดว่าอะไรคือทางออกที่จะทำให้กลุ่มผู้ประกอบการสามารถเดินหน้าต่อไปได้ครับ? 

รศ.ดร.ปกรณ์:

เป็นคำถามที่สำคัญมากครับ เพราะการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมบริการ ที่นำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับที่สามรองจากภาคการผลิตด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม ประเทศไทยถือเป็นจุดหมายที่นักท่องเที่ยวมุสลิมเลือกเป็นอันดับต้นของโลกสำหรับการท่องเที่ยวนอกกลุ่มประเทศโลกอิสลาม รัฐบาลไทยจึงให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้รับบริการกลุ่มนี้มาก เพราะเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงทั้งเกณฑ์ด้านเวลาและการใช้จ่าย รวมทั้งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับการรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสุขภาพ กับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม จึงได้กำหนดนโยบายสำคัญในเรื่องนี้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560 ตั้งเข็มมุ่งให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวมุสลิม (Thailand as a Muslim Friendly Destination) ดังนั้น ในปีพ.ศ. 2561สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทยจึงเริ่มต้นการพัฒนามาตรฐานด้านนี้ โดยใช้ชื่อว่ามาตรฐานฮาลาลเพื่อการบริการการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวมุสลิม และเมื่อรัฐบาลมีมาตรการในการรับมือกับสถานการณ์โควิด 19 จึงได้มีการปรับปรุงมาตรฐานฉบับนี้ ในส่วนของการวางข้อกำหนดใหม่เพิ่มขึ้น สำหรับส่วนของโรงแรมและที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว และสมรรถนะของมัคคุเทศก์ โดยคาดว่าจะประกาศใช้มาตรฐานนี้ในปี 2564

อิรฟัน : ในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันนี้ อาจารย์อยากฝากอะไรถึงคุณผู้อ่านทุกท่านบ้างครับ เชิญครับ?

รศ.ดร.ปกรณ์: 

สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล ผู้ตรวจรับรอง ผู้ตรวจสอบ ที่ปรึกษาฮาลาล พนักงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต ผู้ทำการเชือดสัตว์ การขนส่ง การจัดจำหน่าย รวมทั้งผู้บริโภค ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ขอให้มีความมั่นใจว่าการพัฒนามาตรฐานฮาลาลของประเทศไทยที่ดำเนินการร่วมกันโดยสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับองค์การภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ผนวกกับความร่วมมือที่ได้รับจาก OIC/SMIIC ในฐานะองค์กรมาตรฐานที่ถือเป็นตัวแทนของประชาคมโลกอิสลาม อันเป็นกลุ่มประเทศผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายของไทยให้แก่ผู้บริโภคปลายทางรายใหญ่ที่สุด ดังนั้น มาตรฐานฮาลาลของไทยจึงเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสูงจากประชาคมโลก

ขอเรียนในท้ายที่สุดว่า ประเทศไทยของเราได้รับเกียรติอย่างสูงยิ่ง จากประเทศคู่ค้าและประเทศผู้บริโภคว่าเป็นประเทศที่มีความสามารถด้านการผลิตและการตรวจรับรองฮาลาลที่สร้างคุณค่าของฮาลาลอย่างละเอียดและสมบูรณ์ยิ่ง สมกับที่มีเครื่องหมายรับรองฮาลาล เป็นลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ที่ใช้คำในภาษาอังกฤษว่า Diamond shape จึงมีการวิเคราะห์ว่าผลิตภัณฑ์ฮาลาลประเทศไทยได้รับการเจียรนัยจากช่างมืออาชีพ ด้วยเหตุนี้เอง ในเชิงของความเข้มแข็งของยี่ห้อ (Branding) ของผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์จากสถานะของแบรนด์ จึงขนานนามผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลของไทย คือ THAILAND DIAMOD HALAL หรือ “ฮาลาลประเทศไทยแข็งแกร่งและมีคุณค่าระดับเพชรนั่นเอง

 

ผู้เขียน

เขียนโดย นายอิรฟัน แวหะมะ

Compiled by Mr. Erfun Waehama

HALAL INSIGHT ฮาลาล อินไซต์ 
www.halalinsight.org

Back to Top
Share via
Share this