Switch to the dark mode that's kinder on your eyes at night time.

Switch to the light mode that's kinder on your eyes at day time.

Switch to the dark mode that's kinder on your eyes at night time.

Switch to the light mode that's kinder on your eyes at day time.

ทำความรู้จักเนื้อทางเลือก

Share
Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest
Share on tumblr
0

นางสาวเกษิณี เกตุเลขา อาริยะ    ผู้ช่วยวิจัย

Alternative meat หรือ meat analogues อาจเรียกว่าเนื้อสัตว์ทางเลือก คือการออกแบบและลอกเลียนแบบเนื้อสัตว์ผ่านกระบวนการผลิตที่มีการปรับปรุง แต่งเสริม เติมรส ให้มีลักษณะทั้งภายนอก (appearance) กลิ่น (flavor) รสสัมผัส (taste) และเนื้อสัมผัส (texture) เหมือนกับเนื้อสัตว์ทุกประการ (Ruby, 2012) เนื้อสัตว์ทางเลือกนี้สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ตามวิธีการผลิต คือ 1. plant-based meat คือเนื้อสัตว์ที่ผลิตจากโปรตีนจากพืชตระกูลถั่ว หรือกลูเต็นจากข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์และข้าวโพด เป็นต้น 2. cell-based meat หรือเนื้อสัตว์ที่ผลิตจากกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (culture meat) จากเสต็มเซลล์ของสัตว์ต้นแบบในภาวะที่มีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต ทั้งนี้เนื้อแต่ละชนิดจะต้องการสภาวะการเลี้ยงเช่นอุณหภูมิ หรือสารอาหารที่แตกต่างกันออกไป กระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อดังกล่าวเกิดขึ้นในหลอดทดลองบางครั้งจึงอาจเรียกว่า in vitro meat และ 3. เนื้อสัตว์ที่ผลิตขึ้นมาจากกระบวนการหมัก คือ fermentation-based meat เช่นไมโครโปรตีน เป็นเนื้อสัตว์ทางเลือกที่ได้จากฟังไจที่ผลิตจากราสาย (filamentous fungi) Fusarium venenatum ซึ่งเป็นกลุ่มราที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการมาตรฐานอาหารของอังกฤษ (UK Food Standard Committee) ว่ามีความปลอดภัยและสามารถใช้ในการผลิตโปรตีนทางเลือกได้ (Sha & Xiong, 2020) เนื้อสัตว์ทางเลือกจึงนับเป็นรูปแบบหนึ่งของการผลิตอาหารแห่งอนาคตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ผู้บริโภคให้ความตระหนักในการเลือกบริโภคอาหารที่ต้องดีทั้งในแง่ของคุณค่าทางโภชนาการและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามเนื้อสัตว์ทางเลือกที่ผลิตจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อยังไม่เป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้บริโภคมากนักและยังมีไม่กี่ประเทศที่อนุญาตให้ขายเนื้อสัตว์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ เนื้อสัตว์ทางเลือกที่พบในท้องตลาดส่วนมากจึงเป็นเนื้อสัตว์ทางเลือกที่ผลิตจากพืช 

เนื้อสัตว์ทางเลือกจากพืชนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนของอาหารในโลกอนาคต และกลายมาเป็นรูปแบบใหม่ของการบริโภคโปรตีน ที่ได้รับความนิยมในหมู่คนรักสุขภาพ เนื่องจากมีรายงานข้อดีหลายประการอาทิ การบริโภคเนื้อสัตว์ปริมาณมากมีความสัมพันธ์กับความเจ็บป่วยบางประการของผู้บริโภค เช่นงานวิจัยที่ได้จากการวิเคราะห์อภิมาณ (meta-analysis) พบว่าการบริโภคผลิตภัณฑ์จากพืชแทนการรับประทานเนื้อสัตว์สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดเบาหวาน ประเภท 2 หรือ type-2 diabetes  (Qian, Liu, Hu, Bhupathiraju, & Sun, 2019) และการเกิดโรคหัวใจ  (Lederman, 2019) รวมถึงลดโอกาสการสะสมสารก่อมะเร็งจำพวก Polycyclic aromatic hydrocarbons (PAHs) และ Nnitrosamines ที่ผลิตขึ้นมาเมื่อร่างกายบริโภคอาหารดัดแปลงจากเนื้อสัตว์เพราะมีไนโตรเจนและไขมันอิ่มตัวสูง (saturated fatty acid) (Cantwell & Elliott, 2017)  นอกจากนี้ยังพบการส่งผ่าน และการสะสมของสารเคมีที่ใช้ในปศุสัตว์เช่นสารเร่งเนื้อแดงกลุ่มกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (ด้วงกลัด, 2018) ฮอร์โมนเร่งโตและยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อสัตว์และเกิดการสะสมและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีโรคประจำตัว เด็ก คนชรา และสตรีมีครรภ์ 

เนื้อสัตว์ทางเลือกจากพืชนี้ยังได้รับการสนับสนุนในหมู่นักเคลื่อนไหว NGOs เนื่องจากเหตุผลด้านสวัสดิภาพของสัตว์ (animal welfare) และเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าปศุสัตว์ที่ต้องมีการจัดการระบบกำจัดสิ่งขับถ่าย ทั้งยังใช้พื้นที่ ทรัพยากรมาก ก่อให้เกิดมลภาวะ และก๊าซเรือนกระจกต่อโลกมากกว่าระบบเกษตรกรรมหรือการปลูกพืช (Sanchez-Sabate & Sabaté, 2019) อย่างไรก็ตามผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวยังต้องมีการศึกษาค้นคว้ากันอีกมาก 

ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมให้ความสำคัญและสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ เราอาจจะคุ้นหูกันภายใต้ชื่อทางการค้าต่าง ๆ เช่น Beyond Meat™, Impossible Foods™, Light life™ สำหรับประเทศไทย Let’s planty meet คือรายแรกและเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมนี้ โดยผลิตเนื้อสัตว์จากพืชสำหรับเบอร์เกอร์ ซึ่งต่างก็ประสบความสำเร็จอย่างมากในเชิงธุรกิจ มีการคาดเดาการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้จาก 4.6 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2018 เป็น 85 ล้านล้านดอลลาร์ในอีก 9 ปีข้างหน้า (UBS, 2019) เราจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการพูดถึงประเด็นดังกล่าวในมิติของศาสนาและวัฒนธรรม เพราะการการบริโภคอาหารของมนุษย์นั้นสอดคล้องกับวัฒนธรรมการดำรงชีวิต ยกตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคเนื้อสัตว์ เช่นการงดบริโภคเนื้อสัตว์ของชาวคริสต์นิกายคาทอลิกช่วงเทศกาลมหาพรต การห้ามฆ่าและห้ามบริโภคเนื้อวัวของชาวฮินดู และการบริโภคอาหารฮาลาลของชาวมุสลิม ซึ่งถือเป็นการแสดงความศรัทธาต่อพระเจ้า ดังนั้นมุสลิมจึงเลือกบริโภคเนื้อสัตว์บางประเภท และปฏิเสธการบริโภคเนื้อสัตว์บางประเภทเช่นสุกร สัตว์มีเขี้ยวเล็บและสัตว์ที่เชือดโดยมิได้กล่าวนามพระเจ้า เป็นต้น ในบริบทของความก้าวกระโดดของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งผลให้อาหารมีความซับซ้อนมากกว่าในอดีต อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมและวิถีปฏิบัติก็ยังจำเป็นต้องดำเนินไปตามครรลองข้อกำหนดของศาสนา การวินิจฉัยว่าเนื้อสัตว์ทางเลือกนี้สามารถบริโภคได้หรือไม่ได้ตามข้อกำหนดของแต่ละความเชื่อนั้น จึงจำเป็นต้องตีความบนพื้นฐานความรู้ทั้งศาสนศาสตร์และวิทยาศาสตร์ 

 

Cantwell, M., & Elliott, C. J. J. C. N. D. (2017). Nitrates, nitrites and nitrosamines from processed meat intake and colorectal cancer risk. 3, 27. 

Lederman, S. (2019). Prevent and reverse heart diesease with a plant-based diet. Retrieved from https://www.virtua.org/articles/prevent-and-reverse-heart-disease-with-a-plant-based-diet

Qian, F., Liu, G., Hu, F. B., Bhupathiraju, S. N., & Sun, Q. (2019). Association Between Plant-Based Dietary Patterns and Risk of Type 2 Diabetes: A Systematic Review and Meta-analysis. JAMA Internal Medicine, 179(10), 1335-1344. doi:10.1001/jamainternmed.2019.2195

Ruby, M. B. (2012). Vegetarianism. A blossoming field of study. Appetite, 58(1), 141-150. doi:https://doi.org/10.1016/j.appet.2011.09.019

Sanchez-Sabate, R., & Sabaté, J. (2019). Consumer attitudes towards environmental concerns of meat consumption: A systematic review. International Journal of Environmental Research and Public Health, 16(7). doi:10.3390/ijerph16071220

Sha, L., & Xiong, Y. L. (2020). Plant protein-based alternatives of reconstructed meat: Science, technology, and challenges. Trends in Food Science & Technology, 102, 51-61. doi:https://doi.org/10.1016/j.tifs.2020.05.022

UBS. (2019). Disruption at the dinner table. Retrieved from https://www.ubs.com/global/en/wealth-management/marketnews/home/article.1441202.html/

ด้วงกลัด, ภ. (2018). สารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมู. Retrieved from https://www.the101.world/ractopamine-on-pork/

 

ผู้เขียน

HALAL INSIGHT ฮาลาล อินไซต์ 
www.halalinsight.org

Back to Top
Share via
Share this